พื้นที่&ความทรงจำ + ฉัน&เธอ
“สยามสแควร์” (2527,dir: ศุภักษร)
“รักแห่งสยาม” (2550, dir: ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล)
“สยามสแควร์” (2560, dir: ไพรัช คุ้มวัน)
---------------------------
สยามฯ ในความทรงจำ
---------------------------
ตอนแรกที่ได้ดู “สยามสแควร์” (2527) ทำให้พอเห็นภาพสยามสแควร์ในปี 2526-2527 รู้สึกว่าเป็นภาพสยามที่มันอยู่ในความทรงจำไกลโพ้นของเรามากๆ เป็นสยามที่เราไม่เคยเกิดทัน ไม่เคยเห็นด้วยตา หนังใช้พื้นที่สยามเป็นตัวเปิดและปิดเรื่องราวความรักของวัยรุ่น ที่นางเอกขึ้นไปเที่ยวเชียงใหม่ ได้พบพระเอกเป็นนักร้องช่างฝันที่กำลังลงมาประกวดร้องเพลงที่สยาม เหตุการณ์ตาลปัตรตามรายทางทำให้คู่พรากจากกัน ฉากสุดท้ายทั้งคู่กลับมาพบกันอีกครั้งที่สะพานลอยหน้าสยามสแควร์ นั่นคือสิ่งที่หนังซึ่งผ่านวันเวลากว่า 30 ปีได้ทิ้งภาพสยามไว้แก่เรา มันเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น พื้นที่แห่งความทันสมัย มีลานสเก็ต มีร้านอาหารทั้งเก่าแก่และเป็นเฟรนไชส์ดังๆ มาลง มีโรงหนัง มีร้านเพลง ฯลฯ
สยามสแควร์เกิดขึ้นด้วยไอเดียจะสร้างให้เป็นศูนย์การค้าเชิงราบ ไม่มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในพื้นที่ อาศัยพื้นที่โล่งเปิดทำเลให้พ่อค้าแม่ค้ารายย่อยเช่าเปิดร้านขายของ ดังนั้นสยามสแควร์จึงมีร้านรวงตามตรอกซอยมากมาย อาจจะมากกว่าจำนวนร้านในห้างสรรพสินค้าดังๆ ยุคสมัยนั้นด้วยซ้ำไป
ภาพของสยามสแควร์ยังปรากฎในหนังเรื่องอื่นๆ ในยุคนั้นอาทิ “วัยระเริง” (2527) และ “ช่างมันฉันไม่แคร์” (2529) เรื่องแรกภาพสยามสแควร์นำเสนอคล้ายกับ “สยามสแควร์” (2527) คือยังเป็นพื้นที่ของวัยรุ่น สนุกสนาน เปี่ยมสีสัน แต่ใน “ช่างมันฉันไม่แคร์” นำเสนอสยามอีกด้านหนึ่ง เป็นด้านของโลกลี้ลับที่ซ่อนอยู่ในสยาม นั่นคือโลกของผู้ชายขายตัว พระเอก (ลิขิต เอกมงคล) คอยยืนแกร่วหน้าสยามเซ็นเตอร์เพื่อรอ “ลูกค้า” มาพบ แต่วันหนึ่งเขากลับได้เจอผู้กำกับโฆษณาสาวสุดเท่ (สินจัย เปล่งพานิชย์) เธอชักชวนให้เขาไปเป็นนายแบบกางเกงใน เมื่อพระเอกเริ่มโด่งดังจากโฆษณาดังกล่าว ชีวิตทั้งคู่ก็ผูกพันมากขึ้นผ่านมรสุมทั้งการงานและความรัก จนสุดท้ายทั้งคู่ต้องเผชิญกำแพงที่กีดกั้นคนชั้นสูงอย่างเธอ จะรักผู้ชายขายตัวอย่างเขาได้หรือไม่
ขณะที่ “สยามสแควร์” นำเสนอภาพสยามฯ เป็นแดนสวรรค์ของวัยรุ่น เป็นฉากรักละมุนอุ่นไฟฝัน “ช่างมันฉันไม่แคร์” เลือกนำเสนอสยามที่ค่อนข้างดิบ กร้านและมืดหม่น ฉากที่ลิขิตวิ่งร้องไห้ไปทั่วสยามฯ หลังสินจัยจับได้ว่าเขาเป็นผู้ชายขายตัว ถูกถ่ายด้วยวิธีแฮนเฮลด์ที่ดิบ สดมากๆ ในยุคนั้น
นอกจากรู้จักสยามฯ ผ่านหนัง เรายังรับรู้ผ่านการบอกเล่าของพ่อแม่และลูกพี่ลูกน้องที่โตกว่า นอกจากหนังที่พ้นผ่านเวลามาจนถึงปัจจุบัน ยังมีชุดภาพแฟชั่นยุคนั้นที่ อำพล ลำพูน, สุนิตย์ นภาศรี ถ่ายแบบลงนิตยสารวัยรุ่น ภาพเด็กสยามนั่งหน้าบันไดห้างสยามเซ็นเตอร์ ฯลฯ
แต่การรู้จักกับ “สยามสแควร์” ในยุค 90 นั้นแตกต่างออกไป เรามาที่นี่ครั้งแรก เราเดินใต้โรงหนังลิโด้ เดินผ่านสกาล่า นั่งร้านมิสเตอร์โดนัท นั่งร้านกาโตวเฮ้าส์ เดินเข้าดอกหญ้า ซื้อหนังสือฟิล์มไวรัสเล่ม 2 กลับบ้านต่างจังหวัด ภาพสยามของเราตอนนั้นคือความมึน งง ตรอกซอกซอยมีร้านรวงต่างๆ ผุดขึ้นมากมาย ใต้ลิโด้คือเขาวงกตสำหรับเรา เดินวนเวียนไปมาอยู่นานกว่าจะจับทิศทางออกไปสู่ถนนใหญ่ได้ ทั้งยังเป็นสยามที่ไร้รถไฟฟ้า ดังนั้นเมื่อพ้นโรงลิโดออกมา เราจึงเห็นตึกสยามเซ็นเตอร์ตั้งตระหง่านฟ้าอยู่ตรงหน้าเต็มตา
พื้นที่สยามฯ จริงๆ ในยุคนี้เปลี่ยนจากหนังที่เคยได้ดูตอนเด็กๆ พอสมควร มันไม่ได้ดูโล่งๆ โหรงเหรงอีกต่อไป วัยรุ่นก็เปลี่ยนไป การแต่งกายทันสมัยขึ้น เพจเจอร์เริ่มมีอิทธิพลกับพวกเขา กิจกรรมเล่นโบว์ลิ่งหรือลานสเกตไม่เป็นที่นิยมอีกแล้ว พวกเขาหันไปสู่การเล่นเกม อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น ฯลฯ
ฉะนั้น “สยามสแควร์” จึงอาจเป็นที่เพียงไม่กี่ที่ในแผ่นดินเกิด ที่เรารู้จักและเข้าใจคาแรคเตอร์เฉพาะตัวของมัน (พื้นที่วัยรุ่น แหล่งบันเทิงแห่งยุคสมัย) ตั้งแต่เรายังไม่เคยเหยียบย่างไปถึง จนกระทั่งมีโอกาสไปจริงๆ ก็พบว่ามันเริ่มเปลี่ยนไปจากภาพจำที่รู้จักมาก่อน
----------------------
ความรักในสยามฯ
----------------------
สยามสแควร์ กลับมาถูกพูดถึงอีกครั้งมากๆ เมื่อ “รักแห่งสยาม” (2550) เข้าฉาย เกิดกระแสแฟนคลับมากมาย จนหนังยืนระยะฉายนานร่วมเดือนเหลือเชื่อ เราเองได้ดูทีหลังยังรู้สึกว่าหนังมันทำงานกับวัยรุ่นยุคนั้นมากๆ เพราะนี่คือภาพสยามที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่จริงๆ พวกเขาเดิน กิน เล่น นัดเจอเพื่อน นัดเจอหญิง มีลานกิจกรรมให้พวกเขาไปร่วมเรื่อยๆ ตามเทศกาลต่างๆ บรรยากาศของสยามอบอวลตลอดทั้งเรื่อง
สิ่งที่ดีมากๆ คือหนังเลือกชุดความทรงจำเกี่ยวกับกิจกรรมต่างๆ ในสยามของวัยรุ่น มาใช้ผูกเดินเรื่อง ตัวละครทุกตัวเข้ามาใช้พื้นที่ในสยามเพื่อทำกิจกรรมธรรมดาๆ กินขนม รอเพื่อนที่ลานน้ำพุ เดินซื้อการ์ตูน แต่สิ่งที่เคลื่อนภายในคือมิติความรู้สึกของพวกเขา ทุกครั้งที่ตัวละครกลับมาเยือนสยาม มาพื้นที่เดิมๆ ความรู้สึกเปลี่ยนไป สยามไม่ได้ขับเคลื่อนให้พวกเขามีชีวิต พวกเขาต่างหากที่ทำให้สยามมีชีวิตชีวาขึ้น
เรายังจำได้ว่าหลังหนังออกฉายไม่นาน ลานน้ำพุในสยามฯ ก็ถูกทุบทิ้ง เพื่อสร้างห้างสรรพสินค้าฯ ขึ้นใหม่ ซึ่งนี่เป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าสยามจากเดิมเป็นศูนย์การค้าเชิงราบ ที่ทุกๆ ร้านบ้านช่องตรอกซอย มีร้านค้ายิบย่อยของตัวเอง กลายเป็นพื้นที่รองรับห้างสรรพสินค้าขึ้นอีกแห่ง การเกิดขึ้นของห้างฯ ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงพื้นที่สยามอย่างรุนแรง พื้นที่รอบๆ เป็นเพียงอาณาเขตชั้นรอง รวมกับการสร้างสถานีรถไฟฟ้าที่ตัดเส้นทางตรงเข้าห้าง ทำให้พื้นที่เชิงราบกลายเป็นพื้นที่ชั้นรองของสยาม จุดเด่นในอดีตกลายเป็นจุดที่ถูกลืม
ภาพนักเรียนเดินสยามตามตรอกซอยต่างๆ นั่งรอที่ร้านมิสเตอร์โดนัท หรือ กาโตเฮ้าส์ เดินซื้อหนังสือในร้านดอกหญ้า จึงกลายเป็นเพียงความทรงจำที่ถูกบันทึกไว้ในหนัง “รักแห่งสยาม” พื้นที่เหล่านี้หมดอายุขัยตามวันเวลา เหลือเพียงร่องรอยปรากฎในหนัง
แต่ตัวละครอย่างโต้ง กับ มิว ยังคงมีชีวิตต่อไปนอกจอ พวกเขาล้วนเป็นตัวแทนวัยรุ่นของยุคสมัยนั้น พวกเขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ผ่านวันเวลามากมาย โดยทั้งรู้และไม่รู้ตัว ว่าที่พื้นที่เดิมๆ ซึ่งเคยใช้ชีวิตเมื่อครั้งยังเยาว์ กลายเป็นเพียงความทรงจำ
หากหยิบ “รักแห่งสยาม” กลับมาดูอีกครั้งในวันนี้ (2560) จะพบว่า “หลายพื้นที่” ของสยามฯ ในหนังไม่มีอยู่จริงแล้ว
-------------------------
สยามสแควร์ (2560)
-------------------------
พื้นที่ของ “สยามสแควร์” ถูกทุบ ทำลาย สร้างทับ ซ้ำเติม มาหลายทศวรรษ การเปลี่ยนโฉมทางการเมืองและเศรษฐกิจไทยหลังปี 2550 เป็นต้นมาทำให้พื้นที่สยามฯ เปลี่ยนไปไกลมาก ความเป็น “พื้นที่ของวัยรุ่น” ถูกช่วงชิงไปโดยคู่แข่งสำคัญอย่างการเกิดของตลาดนัดรถไฟ หรือแหล่งบันเทิงอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เดียวกัน แต่อยู่ใกล้กลุ่มวัยรุ่นทุกหัวมุมเมือง จนทำให้เป้าหมายการไป “เดินสยามเพื่อใช้ชีวิตวัยรุ่น” นั้นไม่จำเป็นอีกต่อไป เช่นกันนิยาม “วัยรุ่นสยาม” ก็ลดความแข็งแรงลงจากเก่าก่อน
การมีอยู่ของ “สยามสแควร์” ในปัจจุบันจึงประหลาดสำหรับเรา เหมือนมีสยามสแควร์ในอดีตทับซ้อนอยู่ ตึกใหญ่ห้างใหม่ที่สร้างขึ้นทับสถานที่เดิม สิ่งที่เปลี่ยนไปแต่ความทรงจำเรายังฉายภาพเก่าๆ อยู่ ดังนั้นการมอง “สยามสแควร์” อีกครั้งในวันนี้ จึงเป็นการมองวิญญาณของอดีตที่ถูกฝังลงใต้พื้นที่สยาม วิญญาณของสิ่งของ วิญญาณของตึกรามร้านรวงเก่าแก่ หรือแม้แต่วิญญาณของผู้คนที่เคยใช้ชีวิตที่นี่ ...ที่สยาม
หลังได้อ่านบท “สยามสแควร์” เราจึงตื่นเต้นมากที่หนังพูดเรื่องสิ่งที่เคยมีอยู่ แต่มันหายไปแล้ว พูดเรื่องอดีต vs ปัจจุบัน พูดเรื่องสยามฯ ในอดีต กับสยามฯ ในทุกวันนี้ พื้นที่ของมันเปลี่ยนไปไม่เหลือเค้าเดิมมากๆ คนยุคนั้นเมื่อกลับมาที่สยามฯ พวกเขาจะยังมองตึกห้างใหม่ๆ ไหม หรือพวกเขาเห็นเพียงเศษซากในความทรงจำติดค้างอยู่ที่นั่นที่นี่ ?
พื้นที่ของ “สยามสแควร์” จึงวูบวาบ โผล่แวบไปมา เหมือนการใช้ชีวิตทุกวันนี้ มันไม่มีที่เก่าๆ ให้เราได้อ้อยอิ่งอยู่นานๆ อีกต่อไป (เว้นแต่ร้าน Milk Plus ซึ่งอยู่ยงมานาน) เราไม่อาจพูดได้เต็มปากว่าใช้ชีวิตอยู่ในสยามสแควร์จริงๆ เมื่อปัจจุบันมันกลายเป็นเหมือน hub สำหรับให้แวะพัก เปลี่ยนสาย เพื่อมุ่งหน้าไปยังที่ต่างๆ มันไม่ใช่ “จุดหมายปลายทางของวัยรุ่น” อีกต่อไป มันเป็นจุดเริ่มเพื่อพาเราไปสู่ที่ใหม่ๆ สู่ประสบการณ์ใหม่ๆ
พออ่านบทจบ สิ่งแรกๆ ที่ทำคือเริ่มไปเดินเล่นทั่วๆ สยามสแควร์ในเวลากลางดึก เราพบว่าพื้นที่นี้เริ่มเก่าคร่า บางซอกมุมเริ่มทรุดโทรมน่าใจหาย บางที่เก่าแก่ยังคงยืนทะมึนเหมือนไร้กาลเวลา แต่นั่นยิ่งทำให้มันน่ากลัว เพราะมันอยู่ยงมานาน บางที่แน่ใจว่านานกว่าชีวิตเราทั้งชีวิตด้วยซ้ำไป
แต่เราก็แน่ใจว่าบางที่ในความทรงจำเรายังชัดเจนมากๆ อยู่ เรายังจำตำแหน่งที่ตั้งร้านดอกหญ้าสมัยเป็นร้านใหญ่ๆ ได้ เรายังจำร้านมิสเตอร์โดนัทได้ เรายังจำได้ว่าเส้นหน้าศูนย์หนังสือจุฬาฯ เป็นเส้นที่เราแทบไม่อยากเดินคนเดียวกลางดึก มันเปลี่ยว มันเงียบสงัด มันเหมือนเป็นฉากหลังของสยาม หากซอย 1 ถึงซอยต่างๆ เป็นด้านแห่งชีวิตชีวา สดใสในยามกลางวัน เส้นหน้าศูนย์หนังสือจุฬาฯ นี่แหละ คือเส้นแห่งความลี้ลับในยามกลางคืน
ใต้ลิโด้ตอนกลางดึกนั่นก็อีกที่ กลางวันมันคือเขาวงกต กลางคืนมันคือแดนสนธยา จะเป็นไปได้ไหมถ้ามีใครซักคนเดินพลัดหลงในนั้น ทะลุสู่อีกมิติที่ซ้อนทับอยู่ เพราะสยามสแควร์แห่งนี้ ถูกทุบ รื้อ สร้างทับ ทำใหม่ตลอดเวลา มันมีการทับถมของความทรงจำ ของสิ่งต่างๆ มากมายอัดแน่นอยู่ในพื้นที่เล็กๆ นี้ เป็นไปได้ไหมที่มีบางสิ่งที่เราจะหลงลืมไป
เหล่าตัวละครวัยรุ่นใน “สยามสแควร์” จึงเป็นเช่นนั้น พวกเขาหลง วนเวียนอยู่ในวังวนแห่งความรู้สึก รัก โกรธ เกลียด ชิงชัง พวกเขาแวะเวียนมาพบกันในชั่วครู่ยามเรียนพิเศษ และลาจากเมื่อหมดชั่วโมงเรียน เราต่างมีความรู้สึกที่ทิ้งไว้กลางทาง เราไม่ได้อยากจดจำทุกอย่างในทุกๆ วินาทีของชีวิตหรอก เรามักหาโอกาสเลือกทิ้งความทรงจำหลายๆ สิ่งที่ไม่น่าภิรมย์ นั่นเป็นสิ่งที่เราเชื่อ นั่นเป็นสิ่งที่เราพูดถึงมันใน “สยามสแควร์” ...เศษซากของความรู้สึก
เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่บ้าพลัง มีไฟฝันและอยากเก็บทุกอย่างไว้กับตัว เชื่อว่าจะครองโลกได้
หลายคนเริ่มทิ้งความรู้สึก เริ่มเผชิญความเจ็บปวด อกหัก ทรยศเพื่อน เรื่องลับๆ ที่ไม่อยากบอกใคร เรื่องเลวร้ายต่างๆ นาๆ ครั้งแรกก็ตอนเป็นวัยรุ่น
เศษซากชีวิตเราส่วนหนึ่งในวัยรุ่น ถูกทิ้งถมไว้ที่ไหนซักแห่ง
อาจจะเป็น “สยามสแควร์”
----------
ฉัน&เธอ
----------
เราเชื่อว่าพื้นที่สยามสแควร์จะยังคงอยู่ไปอีกหลายปี ไม่แน่ในอนาคตอาจมีคนแวะเวียนกลับมาถ่ายทำหนังที่นี่อีกครั้ง บริเวณโดยรอบอาจเปลี่ยนไป ตึกเก่าอาจหาย ตึกใหม่ผุดขึ้น ฯลฯ
แน่นอนว่าพื้นที่การค้าเชิงราบจะกลายเป็นอดีต วัยรุ่นจะยังแวะเวียนมาที่นี่หรือไม่ ชีวิตของพวกเขากับสยามสแควร์จะเปลี่ยนไปแบบไหน? อาจจะอีก 5 – 10 หรือ 20 ปี
เราไม่มีทางรู้เลย จนกว่าเวลานั้นจะมาถึง แต่เราจะทำสิ่งหนึ่งระหว่างเฝ้ารอ คือการหยิบหนังทั้ง 3 เรื่องนี้กลับมาดูอีกครั้งเมื่อวันนั้นมาถึง วันที่ “สยามสแควร์” ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เพื่อกลับไปสำรวจความทรงจำของตัวเอง ในยุคสมัยที่เคยเป็นวัยรุ่น กับพื้นที่ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่า “ศูนย์กลางของวัยรุ่น”
แด่ .. สยามสแควร์ (2527) รักแห่งสยาม (2550) และ สยามสแควร์ (2560)
---------------------
สินจัย ปัจจุบัน 在 รูปสวยๆ จาก Instagram นก สินจัย สินจัย เปล่งพานิช (หงษ์ไทย) 的推薦與評價
20 ม.ค. 2016 - instagram ดารา เช็ค รูปดารา ล่าสุด ภาพสวยๆ จาก instagram ดารา รวม อินสตาแกรมดารา มากมาย ติดตาม instagram ดารา ที่คุณชื่นชอบ อินสตาแกรมดารา ... ... <看更多>
สินจัย ปัจจุบัน 在 นก-สินจัย เปล่งพานิช (หงษ์ไทย) (2508-ปัจจุบัน) 的推薦與評價
นก-สินจัย เปล่งพานิช (หงษ์ไทย) (2508-ปัจจุบัน) by ชมรมคนรักบันเทิงไทย. 6 Likes. 5 people like this. Loading... Try Again. Cancel. Loading... Loading... ... <看更多>